วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ผู้คน ดนตรี ชีวิต

ภาพ/เสียง/พื้นที่ กับวิถีแห่งการรับรู้ตัวตนในสังคม


"La fête du Temp"
งานLa fête du Temp เป็นงานการจัดวางทางเสียง ที่ต้องการนำเสนอมุมมองหนึ่งของค่านิยมในสังคมผ่านรูปแบบของงานวัด ซึ่งประกอบไปด้วยการละเล่นต่างๆ การออกร้าน การฟังเทศน์ฟังธรรม การแสดงต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของค่านิยมของวัฒนธรรมตะวันตก และที่ขาดเสียมิได้ก็คือ กิจกรรมของการบริจาค ในงานชิ้นนี้ ศิลปินได้ใช้ตู้บริจาคเป็นสื่อนำเสียงที่ผู้ชมสามารถที่จะ "ทำบุญ" เสียงได้ด้วยตนเอง

องค์ประกอบของ La fête du Temp นี้ ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมที่กำลังเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ค่อยๆสร้างความเสื่อมโทรมให้กับความบริสุทธิ์ของความเชื่อ และความสวยงามที่เคยมีในวัฒนธรรมไทย ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าชมได้ตระหนักและ เข้าใจถึงผลกระทบของสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นรอบตัว ในปัจจุบัน


ศิลปิน : ศิรษา บุญมา



" แว่ว "

งานจัดแสดงชิ้นนี้เป็นความพยายามที่จะสร้าง"แผนที่เสียง" ของนิทรรศการพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมไทยที่จัดแสดงอยู่ในพื้นที่ชั้นห้า ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) โดยกลุ่มเสียงที่นำมาจัดแสดง สามารถแบ่งออกได้เป็นสี่หัวข้อ สอดคล้องกับเนื้อหาของนิทรรศการ ได้แก่ โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ภาษาและอักษร

ศิลปินผู้สร้างเสียงได้เพิ่มมิติของการตีความเสียงผ่านการรับรู้ของศิลปิน อาทิเช่น เสียงกังวานของภาชนะดินเผา ก็จะถูกตีความในแง่มุมที่เป็นภาชนะ ที่เก็บเสียงและเก็บประสบการณ์ของผู้คนที่อยู่ในช่วงเวลานั้นๆ ในส่วนของจารึก ศิลปินจะพยายามที่จะสร้างสภาวะของเสียงขณะที่ผู้จารึกกำลังทำการจารึกหลักศิลาเหล่านั้น โดยการตีความในลักษณะนี้จะทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสสร้างจินตนาการและประสบการณ์ใหม่ให้กับการเข้าชมนิทรรศการ



ศิลปิน : พัฒนปกรณ์ ลีลาพฤทธิ์ และ พร้อมวุฒิ อัศวโสภณกุล




" ครอบครู ( 2551) "

พิธีกรรมสำคัญที่นักศึกษาศิลปะของมหาวิทยาลัยศิลปากรจะต้องเข้าร่วมก็คือ พิธีครอบครู พิธีที่ศักดิ์ศิทธิ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นที่นักศึกษาจะต้องเปลี่ยนจากการเป็นนักเรียนปกติมาเป็นนักศึกษาศิลปะที่มีความคิดสร้างสรรค์ พิธีนี้ยังเป็นการต้อนรับนักศึกษาให้ เข้ามาเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยศิลปากร และเรียนรู้สิ่งที่อาจารย์ตั้งใจจะมอบให้ อาจารย์จะกระตุ้นให้นักศึกษาแต่ละคนสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาจารย์ทุกคนคาดหวังว่านักศึกษา จะสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นศิลปินที่มีคุณภาพและประสบความสำเร็จได้ ศิลปะจัดวาง ครอบครู สำรวจจุดเริ่มต้นของนักศึกษาและแนวคิดที่ว่า นักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกจะมีโอกาสพัฒนาตัวเอง จนกระทั่งเป็นศิลปินที่ดีได้ ผลงานนี้จะนำเสนอและหยอกล้อกับจุดเริ่มต้นและ การเล่าเรียนหาความรู้ของนักศึกษา

ในงานศิลปะชิ้นนี้ เสียงจะถูกใช้เป็นทั้งสื่อและวิธีการเสียง จะถูกเปลี่ยนจากคลื่นในอากาศให้เป็นวัตถุที่ผู้ชมสามารถจับต้องและเล่นกับมันได้ อย่างไรก็ดี จะมีเพียงเสียงๆเดียว ที่อยู่ ณ ตำแหน่งเฉพาะที่ผู้ชมสามารถได้ยิน เป็นเสียงที่แสดงให้เห็นถึงภาวะการเปลี่ยน จากนักเรียนปกติมาเป็นนักศึกษา




















ศิลปิน : อภิรดี เกษมสุข และ ภัทรพงศ์ ศรีปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น